• ป่วนไม่เลิก จับตาเกณฑ์แบ่งเกรดมหาวิทยาลัย แบ่งชั้นวรรณะ ส่อแววแตกคอในอนาคต
• เรื่องยุ่ง - วุ่นไม่เลิก ในแวดวงอุดมศึกษา เกิดจากสกอ. หรือใครเป็นต้นเหตุ• แย่งกิน - แย่งหา - แย่งใช้ 3 ต้นตอ พาการศึกษาดิ่งลงเหว
• กรอบ TQF สร้างปัญหา หรือให้โอกาส
ถือเป็นหน่วยงานการศึกษาที่มักตกเป็นข่าวคราว (ในด้านที่ไม่ค่อยดี) อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การประท้วงของนักศึกษาและคณาจารย์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นมาก็เป็นเรื่องที่นักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ และคณะการสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประท้วงขับไล่ และถอดถอนคณบดี ซึ่งหนึ่งในหัวข้อการขับไล่นั้นก็คือ “ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษา”
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยานที่ผ่านมา มีตัวแทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศประมาณ 10 คน เดินทางมายื่นรายชื่อคณาจารย์กว่า 700 คน ที่ร่วมลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ : มคอ (TQF : THAILAND QUALIFICATION FRAMEWORK) พ.ศ. 2552 ต่อ วรรัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ร่วมรับฟัง (อ่านล้อมกรอบ...600 คณาจารย์จี้เลิก TQF ขาดความน่าเชื่อถือ-คุกคามวิชาการ)
นี่เฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น ยังไม่นับรวมหลายต่อหลายเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ (อ่านล้อมกรอบ...เสนอ กกอ.-สกอ.ทบทวนบทบาทหน้าที่ สร้างมาตรฐาน+ควบคุมคุณภาพการศึกษา)
ไม่ต้องบอกก็คงพอจะรู้แล้วว่าเป็นหน่วยงานไหน
คู่กรณีของเรื่องทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะต้นคิด ผู้กำกับดูแล และควบคุม
เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาที่โถมเข้าใส่หน่วยงานแห่งนี้จะยิ่งมากขึ้น-มากขึ้น หากยังคิดและทำดังเช่นปัจจุบัน
นักวิชาการบางคนอธิบายให้ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ฟังถึงปรากฏการณ์หนึ่งที่สร้างปัญหาให้วงการศึกษาบ้านเราหนักขึ้น และมากขึ้นก็คือ การให้ผู้ที่ไม่มีความรู้มาชี้นำการศึกษา การขาดแคลนบุคลากรทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ การเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือเอื้อประโยชน์ให้บางมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารหลักสูตร หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นญาติ เป็นเพื่อน หรือคนคุ้นเคย ด้วยการปล่อยหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานให้สามารถเรียน สอน และได้รับใบปริญญาแบบเลยตามเลย แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกก็ตาม
“เราขาดคนชี้นำที่เป็นคนมีความรู้ความเข้าใจ ต้องตอบโจทย์สังคม สังคมต้องการบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพ เพื่อออกไปสร้างงานดีๆ ให้สังคม แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา ทำอย่างนี้กันมากน้อยแค่ไหน สังคมต้องทบทวน” เป็นวาทะร้อนๆ ของ สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่สาดเข้าใส่ สกอ. โครมใหญ่ (อ่านล้อมกรอบ ดุริยางคศิลป์ มหิดล ปัญหาแค่ “ชื่อปริญญา”)
แต่ประเด็นสำคัญที่สุดอันนำมาซึ่งปัญหาก็คือ การนำ “วิชาการ” ผลิตเข้าสู่ตลาด “ทุนนิยม”มากกว่าที่จะเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตเหมือนเคย
“ในฐานะนักวิชาการ การมองเช่นนี้ผิด ค่านิยมที่ตีราคาการศึกษาเป็นเงิน ต้องคิดใหม่ อย่าเอาทุนนิยมมาจับกับการศึกษา อย่าเอาการศึกษามาเป็นธุรกิจ พอทำแบบนี้วงการวิชาการเลวร้ายหมดเลย” สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อธิบายให้ฟัง
แบ่งเกรดมหาวิทยาลัย
ต้นตอความแตกแยก
แม้ว่าคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะคลอดเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกมายังมหาวิทยาลัยต่างๆ และให้มหาวิทยาลัยเลือกว่าอยู่ในกลุ่มใดใน 4 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง เพื่อจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษา มาเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกณฑ์ดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความแตกแยกของสถาบันอุดมศึกษาอย่างคาดไม่ถึง
เห็นได้จากการประชุมที่จัดโดย สกอ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พัทยา จ.ชลบุรี มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มีหลายต่อหลายคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากการจัดอันดับเป็นสถาบันแบบที่ กกอ. และ สมศ. ทำนั้น ไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำกัน และเชื่อว่าหากทำขึ้นจริงจะก่อให้เกิดความแตกแยกในวงการการศึกษา
“การจัดของท่าน ท่านบอกเกรด ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยได้งบประมาณมหาศาล ดีเด่นน่ายกย่อง มหาวิทยาลัยเฉพาะทางดีอันดับสอง คนที่คิดอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ทุกมหาวิทยาลัยต่างมีคุณค่า คุณเอาเงินมาเป็นตัวจับ มหาวิทยาลัยวิจัยได้เงินไปเยอะแยะ แต่มหาวิทยาลัยชุมชนได้เงินนิดนึง ทุกคนก็จะกระเสือกกระสนขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยที่เป็นเฉพาะทางที่ทำไม่ได้ก็ต้องหลอกลวง ผู้บริหารก็จะใช้สารพัดวิธีเพื่อขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยก็เกิดความแตกแยกไม่ปรองดองเพราะคุณไปจัดชนชั้นวรรณะของระบบ”
นักวิชาการการศึกษา รายหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เล่าให้ฟังว่า มาตรฐานดังกล่าวของ สกอ. กับ สมศ. ที่ต้องการประกันคุณภาพแล้วนำทุกมหาวิทยาลัยมาไว้ที่เดียวกันทั้งหมด ถือเป็นการแบ่งชนชั้นให้มหาวิทยาลัยเล็กๆ ตายกันหมด ถามว่า สกอ. กับ สมศ. จะวัดอย่างไร เช่นเรื่องการมีผลงานวิจัยพีพิมพ์นานาชาติ หากอีกที่หนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่เน้นการสอน แล้วไปเทียบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยเล็กๆ ไม่สามารถเทียบได้อยู่แล้ว
“ในที่สุดก็ไปดูถูกเหยียบย่ำมหาวิทยาลัยชั้นรอง จริงแล้วคุณต้องจับกลุ่มเลยว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นกลุ่มประเภทนี้ แล้วมาตรฐานที่จะมาจับก็ต้องต่างกัน เกณฑ์การตรวจสอบควบคุมก็ต้องต่างกัน แต่นี่สกอ.เอามารวมกันหมด มาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยบางแห่งก็ไม่มีทางได้โต ตรวจยังไงก็แพ้ ต้องยกเลิกระบบแรงก์ คุณไม่ต้องมาบอกว่ามหาวิทยาลัยไหนดีกว่ามหาวิทยาลัยไหน มันแตกต่างโดยหน้าที่ของมัน ราชภัฏเขาทำเพื่อท้องถิ่นชุมชน มหาวิทยาลัยคนจนคนยาก การศึกษาก็ระดับหนึ่ง จะมาให้เก่งเลอเลิศ ก็พื้นฐานของคนมันไม่ได้ ในสังคมจะให้คนทุกคนเหมือนกันได้อย่างไร อย่างวันนี้ สมศ.เข้ามา มหาวิทยาลัยเล็กๆ ตกเป็นแถว แล้วมหาวิทยาลัยพวกนี้ก็พยายามหลอกตัวเอง สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา เพื่อจะตะเกียกตะกายขึ้นไป เลยไปไม่รอด”
3 ย.ต้นตอปัญหา
ดึงอุดมศึกษาลงเหว
แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการรับแนวคิดเรื่องธุรกิจการศึกษามาจากตะวันตกเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เนื่องจากในประเทศโลกเสรีหลายประเทศก็เป็นเช่นนี้
แต่คำถามตามมาก็คือ เหตุผลของการนำสถาบันการศึกษาของไทยออกระบบนั้นทำเพื่อใคร และเพื่ออะไร
ในมุมมองของนักวิชาการบางคน อธิบายว่า หากเราเชื่อมั่นในระบบทุนนิยมเสรี มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคุณภาพจะตายลงไปเอง แต่ด้วยความเป็นจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคนขี้เกียจมาก แต่อยากได้ปริญญาง่ายๆ และเผอิญเป็นบุคคลมีฐานะ จึงใช้เงินเพื่อซื้อใบปริญญา ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ที่ขาดแคลนงบประมาณก็อยากได้เงินเพราะต้องการอยู่รอด ต้องการเครือข่ายความสัมพันธ์กับนักการเมือง นักธุรกิจ พร้อมกับใช้บุคคลดังกล่าวเป็นตัวอ้างอิงถึงความนิยม และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันของตนเอง
“แต่เรื่องที่น่าตลกก็คือสังคมบ้านเราดันยอมรับ และให้ความนับถือพวกที่ซื้อใบปริญญา มิหนำซ้ำบางคนแม้จะเป็นคนในแวดวงการศึกษาก็ไม่อาย และภูมิใจในใบปริญญากำมะลอของตนเอง” ดอกเตอร์จอมแฉ ขาประจำของ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” เล่าให้ฟัง
เมื่อการศึกษาออกนอกระบบทำให้มหาวิทยาลัยต้องวิ่งหาเงินเลี้ยงตัวเองตัวเป็นเกลียว มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงดี มีสินทรัพย์มากก็ถือว่าโชคดีที่ไม่ต้องเหนื่อยเหมือนรายอื่น แต่มหาวิทยาลัยที่ไม่เพียบพร้อมบริบูรณ์อย่างนั้นก็ต้องคิดสารพัดวิธีในการหาเงิน
และนี่จึงเป็นที่มาของการแย่งหา-แย่งกิน-แย่งใช้ ในวงการอุดมศึกษาบ้านเรา
เริ่มจาก “แย่งหา” กันก่อน
แต่ละปีมีนักเรียนที่จบชั้น ม.6 สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาราว 123,000 คน (ปี 2554 มีบุคคลเข้าสมัครศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 123,260 คน) ที่สมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ดำเนินการคัดเลือกให้ รวม 94 สถาบัน จากสถิติพบว่าแต่ละปีจะมีจำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นราว 10%
แม้ตัวเลขนักศึกษาจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่สถานการณ์การแข่งขันของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 140 แห่งทั่วประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
สิ่งที่สะท้อนการแข่งขันได้เป็นอย่างดีดูได้จากการโหมโฆษณาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านทางสื่อใหม่ และสื่อเก่า รวมถึงการใช้กลยุทธ์โปรโมชั่นทั้งแจกแท็บเลต หรือแจกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เพื่อชิงเด็กๆที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้มาที่มหาวิทยาลัยของตนให้มากที่สุด เนื่องจากจำนวนผู้เรียนจะเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย
แต่ประเด็นสำคัญที่สุดอันมาซึ่งความน่าสงสัยในมาตรฐานการศึกษาก็คือ การออกไปเขตวิทยาเขตนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมของหลายมหาวิทยาลัย มิหนำซ้ำยังเปิดหลักสูตร และสาขาแปลกๆ เช่น สาขาวิชาธุรกิจการกีฬาและบันเทิง สาขาวิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจสมัยใหม่ หลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หลักสูตรวิศวกรรมขนส่ง หลักสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม นัยว่าเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมยุคใหม่
ยังไม่รวมถึงการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางออนไลน์ที่ผุดขึ้นดังดอกเห็ด
ทั้งหมดนี้หวังเพียงอย่างเดียวคือ “กวาด” เด็กๆ ให้เข้ามาอยู่สถาบันของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพียงเพื่อเก็บค่าหน่วยกิต และค่าบำรุงการศึกษาให้ได้มากๆ สิ่งที่น่าสนใจตามมาคือ แต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่รับเข้ามาหรือไม่
หรือรับมาแล้วปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ ให้เด็ก และผู้ปกครอง หรือบริษัทห้างร้านที่ดันไปรับเด็กที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้าทำงานเป็นผู้รับกรรม
ไม่เพียงเฉพาะปริญญาตรีเท่านั้น แต่ปริญญาโท และปริญญาเอก ก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการศึกษา เช่น จำนวนผู้เรียนที่มีมากกว่าอาจารย์ที่ดูแลวิทยานิพนธ์, การว่าจ้างทำวิทยานิพนธ์, เป็นดอกเตอร์แต่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น
คนเหล่านี้เมื่อจบมาบางคนอาจไม่ได้ใช้ทำอะไร ขณะที่บางคนเอาไปเสริมวุฒิการศึกษาเพื่อให้ตนเองมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน หรือบางคนต้องการใช้อ้างเพื่อหวังเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกรณีหลัง ถามว่า เมื่อผู้สอนไม่มีความรู้ความสามารถแล้วจะเอาอะไรไปสอนผู้เรียน
ต่อมาเป็นเรื่องของการ “แย่งกิน-แย่งใช้”
ขติยา มหาสินธ์ แห่งหนังสือพิมพ์มติชน ได้ให้มุมมองว่า ปัญหาในแวดวงอุดมศึกษา ไม่ได้มีเฉพาะการหลอกลวงซื้อ-ขายปริญญาบัตรเท่านั้น แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากภาคสังคมด้วยว่าคุณภาพการจัดการสอนของบางมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ ส่งผลให้คุณภาพของบัณฑิตมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปทุกปีๆ เนื่องจากมุ่งเปิดหลักสูตรพิเศษ, หลักสูตรนอกเวลาตลอดจน ศูนย์นอกที่ตั้งเพื่อหวังผลกำไร จนละเลยคุณภาพ กลายเป็น “ธุรกิจการศึกษา” สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ “อธิการบดี” ที่เป็นประธานโครงการหลักสูตร ตลอดจน “กรรมการสภามหาวิทยาลัย” ที่รับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการหลักสูตร
ว่ากันว่ารายได้ของอธิการบดีบางคนมาจากการเป็นประธานโครงการหลักสูตรหรือศูนย์นอกที่ตั้งถึงเดือนละ 300,000 บาท ด้วยเหตุนี้เมื่อสถานประกอบออกมาวิพากษ์ว่าบัณฑิตที่จบออกไปไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ มหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัย จึงตกเป็น "จำเลย" ของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ผลิตผลของมหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญกับปัญหาตกงาน ทั้งที่สถานประกอบการและตลาดแรงงานขาดแคลนแรงงานหลายสาขา เป็นปัญหาที่สวนทางกัน เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่สภามหาวิทยาลัยมุ่งเปิดหลักสูตรที่ทำรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย จนละเลยที่จะคำนึงว่าเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการหรือไม่
"มหาวิทยาลัยซึ่งควรเป็นมันสมองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่สังคม ไม่ควรมาสร้างปัญหาให้แก่สังคมเสียเอง ไม่ว่าจะเรื่องผลิตบัณฑิตที่ไม่ตรงกับสาขาขาดแคลน หรือการผลิตโดยไม่คำนึงถึงตลาดแรงงาน ล้วนกลายเป็นปัญหาที่สร้างภาระให้แก่สังคมโดยรวมทั้งสิ้น"
เมื่อดึงคนเข้ามามากแต่อาจารย์ผู้สอนไม่เพียงพอ หลายคนจึง “สนุก” กับการวิ่งรอกเพื่อไปสอนที่นู่นที่นี่ เนื่องจากค่าสอนของอาจารย์ระดับปริญญาเอกตกชั่วโมงละ 3,000 บาท ยิ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วทุกคนในประเทศรู้จักกันดีจะตกหลักหมื่นเลยทีเดียว
แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ระหว่างผู้สอน แต่ผู้เรียนจะมีคุณภาพหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
กรอบมาตรฐาน
ปัญหาหรือโอกาส
แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวจากบรรดาคณาจารย์ถึงเรื่องการพัฒนากรอบคุณวุฒิชาติ ที่เชื่อว่าไม่สร้างสรรค์แต่เป็นตัวทำลายการศึกษา แต่ก็มีบางความคิดเห็นที่สนับสนุนกับการประกาศใช้ TQF หรือ มคอ.
มัทนา สานติวัตร อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า มคอ. คือสิ่งหนึ่งที่ สกอ.วางไว้เป็นไกด์ไลน์ เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยมีความสามารถในการทำหลักสูตรแตกต่างกัน บางที่อาจจะเก่ง บางที่อาจต้องเรียนรู้ การมีกรอบทำให้ได้เข้าสู่มาตรฐาน ถามว่ามาตรฐานนี้สำคัญหรือไม่ สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความมีคุณภาพ และเทียบเคียงได้กับนานาประเทศ
“นี่เป็นการทำให้หลักสูตรได้รับการยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นหน้าที่ของ สกอ. ที่ต้องทำความเข้าใจ ถ้าสิ่งไหนเกินจำเป็น สกอ.ต้องพิจารณา แต่ของไทยต้องมีกรอบมาตรฐานระดับชาติ เพราะมิเช่นนั้นต้องใช้กรอบของนานาชาติมาจับ อันนี้สำคัญมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เมื่อเราส่งคนไปเรียน หรือเขามาเรียนกับเรา เทียบโอนกลับไปหน่วยกิตซึ่งกันและกัน หากไม่มีมันจะลำบากมากในการเทียบโอนหน่วยกิต เอาอะไรมาเป็นตัววัด เขาจะรับเพราะเรามีมาตรฐานที่เทียบเคียงและเท่ากับเขา อันนี้จะไปเชื่อมโยงกับอาเซียน เพราะทุกประเทศในอาเซียนมีกรอบกันทั้งนั้น หากไม่มีเราจะโดนบังคับโดยประเทศรอบข้าง เพราะในเวลาต่อไปมันจะเดินทางข้ามไปข้ามมา หากเขาไม่รับบุคลากรจากประเทศของเรา เราก็เสร็จแล้ว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น